ทำไมอายุมากขึ้น ยิ่งลดน้ำหนักยาก

เมตาบอลิซึม 

คือ กระบวนการทำให้ร่างกายทำงานได้ปกติ ช่วยรักษาสมดุลของภาวะต่างๆ ในร่างกาย อีกทั้งกระบวนการนี้สามารถเผาผลาญสารอาหารให้กลายเป็นพลังงาน ( Catabolism )  เพื่อนำพลังงานไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในช่วงพักและออกกำลังกาย และกระบวนการที่ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆ (Anabolism ) เมื่อร่างกายมีความสมดุลของระบบเมตาบอลึซึม ร่างกายก็สามารถที่จะควบคุมหรือลดน้ำหนักได้นั่นเอง และยังเป็นการป้องกันการเกิดโรคบางอย่างในกลุ่ม NCD ( Non Communicable Diseases ) เช่นความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง 

สารอาหารหลักที่ให้พลังงานประกอบด้วยสารอาหารดังนี้ 

  • คาร์โบไฮเดรต หรืออาหารในกลุ่มแป้งและน้ำตาล : จะเป็นสารอาหารที่ร่างกายจะเผาผลาญและนำไปใช้พลังงานได้เร็วที่สุด จากส่วนที่เล็กที่สุดจากการเผาผลาญคือน้ำตาลกลูโคสซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานในการดำรงชีวิต 
  • ไขมัน : จะมีกลุ่มไขมันดี ( กรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายเพื่อนำไปใช้งาน) และไขมันที่ไม่ดีที่ไปสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายเช่นตามเส้นเลือด หรือร่างกาย 
  • โปรตีน : หลังจากกระบวนการเผาผลาญก็จะได้กรดอะมิโนเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้งาน และเกิดของเสียพวกยูเรียที่ต้องการขับทิ้งทางปัสสาวะ  

สารอาหารทั้งสามกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มคาร์โบไฮเดรต และไขมันนั้น หากร่างกายไม่ได้นำไปใช้งาน หรือมีส่วนเกินก็จะกลับไปเก็บสะสมเป็นไขมันส่วนเกินต่อไป อันจะทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคต่างๆในกลุ่ม NCD ตามมา 

ทำไมอายุมากขึ้น ยิ่งลดน้ำหนักยาก

ร่างกายจะมีอัตราการเผาผลาญ (Metabolic Rate) หรือพลังงานที่ใช้ไปมากน้อยเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 อย่าง ได้แก่ 

  • อัตราความต้องการเผาผลาญของร่างกาย (Basal Metabolic Rate หรือ BMR)  โดยทั่วไปแล้ว ผู้ชายจะมีอัตราการเผาผลาญวันละประมาณ 1,700 กิโลแคลอรี่ (7,100 กิโลจูล) ส่วนผู้หญิงมีอัตราการเผาผลาญวันละประมาณ 1,400 กิโลแคลอรี่ (5,900 กิโลจูล) โดยร่างกายจะใช้พลังงานไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้วอัตราการเผาผลาญของร่างกายขึ้นอยู่กับมวลกล้ามเนื้อทั้งหมดของร่างกาย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อต้องใช้พลังงานในการมาเสริมสร้างให้อยู่ได้ต่อไป หากมวลกล้ามเนื้อลดลง อัตราการเผาผลาญของร่างกายก็ลดลงด้วย 
  • พลังงานที่ใช้ระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ คือ พลังงานที่ร่างกายเผาผลาญหรือใช้ไปขณะเคลื่อนไหวร่างกายทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อร่างกายออกแรงมากในการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง 
  • พลังงานที่ใช้ย่อยอาหาร (Thermic Effect of Food) คือ พลังงานที่ใช้ในการรับประทาน ย่อย และเผาผลาญอาหาร โดยพลังงานส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 5-10 ของพลังงานที่ใช้ เมื่อบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าไป
  • อายุที่มากขึ้น : การทำงานของระบบฮอร์โมนที่ลดลงดังนั้นจึงทำให้ระบบเมตาโบลึซึมทำงานได้ลดลง  ดังนั้นเมื่อรับประทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะเผาผลาญอาหารเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานได้ลดลง ประกอบกับการซ่อมแซมส่วนของร่างกายที่สึกหรอ รวมถึงการสร้างมวลกล้ามเนื้อลดลงด้วย  ดังนั้นสารอาหารส่วนใหญ่ที่เหลือจากการเผาผลาญอาหาร  จึงเกิดเป็นพลังงานส่วนเกินและถูกร่างกายนำไปเก็บสะสมเป็นไขมันในส่วนต่างๆของร่างกาย 

ข้อควรปฏิบัติตัวในการลดและควบคุมน้ำหนัก 

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายแบบแอโรบิกคือวิธีช่วยเผาผลาญพลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยกิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วยการเดิน ปั่นจักยาน วิ่ง หรือว่ายน้ำ โดยทั่วไปแล้ว ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 
  • เสริมสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย การออกกำลังกายที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากกิจกรรมลักษณะนี้จะช่วยให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้ช้าลงเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้ ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานได้เยอะขึ้นหากมีมวลกล้ามเนื้อมาก การออกกำลังกายที่เสริมสร้างความแข็งแรงและมวลกล้ามเนื้อจึงช่วยให้ลดน้ำหนักได้ ควรออกกำลังกายเสริมกล้ามเนื้อมัดใหญ่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ การออกกำลังกายลักษณะนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อหัวใจ กระดูก และสภาพอารมณ์
  • เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ 
  • อย่างไรก็ตาม ควรเลี่ยงการลดน้ำนักที่หักโหมและเร็วเกินไป เนื่องจากการอดอาหารหรือรับประทานอาหารน้อยเกินไปจะลดอัตราการเผาผลาญของร่างกายได้ ทั้งนี้ ร่างกายอาจสลายกล้ามเนื้อเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน เมื่อมวลกล้ามเนื้อน้อยลง ย่อมส่งผลต่อการทำงานของกระบวนการเมตาบอลิซึม ทำให้เผาผลาญช้าลง ซึ่งส่งผลให้สะสมไขมันได้ง่ายขึ้น